กฤษณา อโศกสิน เป็นนามปากกาที่แพร่หลายที่สุดของ สุกัญญา ชลศึกษ์ นักประพันธ์สตรีผู้เรืองนาม และมากประสบการณ์
สุกัญญา ชลศึกษ์ เป็นศิษย์เก่า โรงเรียนราชินี เธอเริ่มต้นชีวิตนักประพันธ์ด้วยวัยเพียง 15 ปีเท่านั้น และมีความมุ่งมั่นที่จะเป็นนักเขียน ผลงานเขียนชิ้นแรกเป็นเรื่องสั้น ชื่อ 'ของขวัญปีใหม่' ลงในหนังสือ 'ไทยใหม่วันจันทร์' โดยใช้นามปากกาว่า 'กัญญ์ชลา' เมื่อประมาณปี พ.ศ. 2489 หลังจากจบการศึกษา เธอก็ได้เข้าทำงานเป็นเจ้าหน้าที่เสมียนใน กรมประมง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้รับเงินเดือน 450 บาท ต่อมา เธอได้เข้าศึกษาต่อในคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ระหว่างนั้นเอง เธอก็เริ่มส่งผลงานเรื่องสั้น ไปลงตีพิมพ์ในนิตยสาร 'ศรีสัปดาห์' หลายเรื่อง และยังทยอยลงตีพิมพ์ออกมาเรื่อย ๆ อย่างสม่ำเสมอ รวมแล้วไม่น้อยกว่าร้อยเรื่อง ในขณะที่ผลงานทางด้านนวนิยายของเธอก็เริ่มมีออกมาเป็นระยะ ไม่ว่าจะเป็น 'หยาดน้ำค้าง', 'ดวงตาสวรรค์', 'ดอกหญ้า', 'ลมบูรพา' ฯลฯ
สำหรับนามปากกา 'กฤษณา อโศกสิน' นั้น เริ่มใช้ครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2501 ด้วยผลงานนวนิยายที่ชื่อว่า วิหคที่หลงทาง ซึ่งได้รับการตีพิมพ์ลงใน 'สตรีสาร' และได้รับการต้อนรับจากผู้อ่านเป็นอย่างดี เธอเคยกล่าวถึงที่มาของนามนี้ว่า "ชื่อนี้นี่ประหลาด มันแว่บขึ้นมาในสมอง ในขณะที่กำลังนั่งคิดอยู่ว่าจะใช้นามปากกาอะไรดีนั้น ก็เกิดขึ้นมาโดยไม่ได้ตั้งใจ แปลออกมาได้ความว่า ไม้หอม (กฤษณา) และ ทรัพย์ที่ปราศจากทุกข์ (อโศกสิน)..." ซึ่งนามปากกานี้ ได้สร้างสรรค์กลั่นกรองผลงานออกมาอย่างมากมายหลายหลาก อย่างเช่น 'น้ำผึ้งขม', 'ระฆังวงเดือน', 'ชลธีพิศวาส' และเรื่องอื่น ๆ อีกกว่าหนึ่งร้อยเรื่อง รวมทั้ง 'ปูนปิดทอง' เรื่องที่ทำให้เธอกลายเป็นนักเขียนรางวัลซีไรท์ ผลงานของเธอได้รับการยกย่องและชื่นชมว่า เป็นงานเขียนที่กระเทาะเปลือกสังคมได้อย่างสะใจและถึงแก่น ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง 'ลานลูกไม้', 'ลมที่เปลี่ยนทาง', 'เสื้อสีฝุ่น', 'รอบรวงข้าว', 'บุษบกใบไม้', 'เรือมนุษย์', 'ฝนหลงฤดู' และ 'ไฟทะเล' ฯลฯ
ในระหว่างปี พ.ศ. 2510 - 2520 นั้น เป็นช่วงที่ 'กฤษณา อโศกสิน' ทำงานหนักมาก เธอเขียนเรื่องส่งไปหลายแห่ง ส่วนมากจะเป็นรายสัปดาห์ทั้งนั้น เช่น 'แม่ศรีเรือน', 'นพเก้า', 'ศรีสยาม', 'ดวงดาว' ฯลฯ โดยเขียนเพียงวันละหนึ่งตอนต่อหนึ่งเรื่อง และส่วนมากจะเขียนแค่เพียงเรื่องเดียวในหนึ่งวัน เธอจะเริ่มทำงานตั้งแต่ 9 โมงเช้า อาจมีบางวันที่เธอเขียนไปจนถึง 6 โมงเย็นจึงจะเลิกงาน พอขึ้นไปข้างบนแล้ว เธอก็ยังต้องทำงานต่ออีก แต่จะเป็นงานตรวจต้นฉบับ
มีผลงานหลายเรื่องถูกนำไปสร้างเป็นภาพยนตร์และละครโทรทัศน์ บางเรื่องก็ถูกสร้างหลายครั้ง เช่น 'เรือมนุษย์', 'ดวงตาสวรรค์', 'น้ำเซาะทราย', 'สวรรค์เบี่ยง', 'เมียหลวง', 'วิมานไฟ', 'ป่ากามเทพ' และ 'ฝันกลางฤดูฝน' ฯลฯ
'กฤษณา อโศกสิน' เป็นนักประพันธ์สตรีที่ประสพความสำเร็จสูงสุดในด้านการประพันธ์นวนิยาย วัดได้จากยอดขายและรางวัลมากมายที่ได้รับ เธอมุ่งมั่นสร้างสรรค์ผลงานด้วยความประณีต แสดงกลวิธีในการผูกปมเรื่อง และการนำเสนอเรื่อง ตัวละคร ฉาก ชื่อเรื่องอันเป็นสัญญลักษณ์ ชื่อตัวละครที่มีความหมาย การใช้ภาษาอันงดงามสละสลวย และแนวความคิดที่อุดมด้วยลักษณะวรรณศิลป์และสุนทรียภาพ ตามทฤษฎีแห่งการสร้างสรรค์วรรณกรรม อีกทั้งยังได้แสดงให้เห็นเป็นที่ประจักษ์กันแล้วว่า เป็นผู้ที่มีอุดมคติ และมีความรับผิดชอบต่อสังคม ในฐานะนักประพันธ์ โดยนำหลักธรรมทางพระพุทธศาสนา โดยเฉพาะในเรื่องผลกรรมดีกรรมชั่วของมนุษย์ มาสอดแทรก เป็นส่วนประกอบในการสรรค์สร้างนวนิยาย ทำให้ผลงานของเธอได้รับความนิยมอย่างสูง ทั้งจากผู้อ่านและจากแวดวงวรรณกรรม ดังปรากฏว่า ได้รับรางวัลทางด้านวรรณกรรม ทั้งระดับชาติและระดับนานาชาติ หลายต่อหลายครั้ง
เธอมีประสบการณ์อยู่ในโลกนักเขียนมายาวนานกว่า 60 ปี ปัจจุบันเธอมีอายุย่าง 82 ปี มีผลงานที่เขียนไว้ ทั้งเรื่องสั้น ที่มีมากกว่า 100 เรื่อง และนวนิยาย อีกประมาณ 140 เรื่อง กับสารคดีอีก 4 เรื่อง และยังมีบทความชุด 'ไฟส่องทาง' อีก 1 ชุด (จำนวน 5 เล่ม)
*หมายเหตุ : นวนิยายบางเรื่องจะเป็นนิยายที่สอดแทรก ผสมผสานข้อคิด สำหรับผู้ที่ต้องการค้นคว้า โดยผู้เขียนจะไม่เน้นความน่าเบื่อแบบสารคดี จึงเขียนเป็นนวนิยายที่ภาษาสละสลวย เพลิดเพลินในการอ่าน เช่น
- นวนิยายชุดไตรภาค อิงประวัติศาสตร์ล้านนา รวม 3 เล่ม 'เวียงแว่นฟ้า', 'หนึ่งฟ้าดินเดียว', 'ขุนหอคำ'